ทีมนักวิจัยจาก University of Central Florida (UCF) ประสบความสำเร็จในการพัฒนาแบตเตอรี่ชนิดใหม่ ที่สามารถชาร์จไฟจนเต็มได้ภายในไม่กี่วินาที แต่สามารถใช้งานนานถึงสัปดาห์ และประจุไฟใหม่ได้ถึง 30,000 ครั้ง ซึ่งมากกว่าแบตเตอรี่แบบลิเธียม-ไอออนในปัจจุบันถึง 20 เท่า
ขนาดเล็ก ยืดหยุ่น และพับงอได้
แบตเตอรี่ดังกล่าวพัฒนาโดยใช้ใช้ตัวเก็บประจุยิ่งยวด (Supercapacitor) และสามารถขึ้นรูปให้เป็นแผ่นขนาดเล็กได้ ที่สำคัญคือมีความยืดหยุ่น สามารถพับงอและบิดไปมาได้ ซึ่งเหมาะสมกับการใช้งานในโทรศัพท์มือถือ (โดยเฉพาะรุ่นฝาพับ) ในรถยนต์ หรืออุปกรณ์สวมใส่เพื่อตรวจวัดสุขภาพ
ก่อนหน้านี้เคยมีการนำตัวเก็บประจุยิ่งยวดมาใช้ทำแบตเตอรี่แล้ว แต่ผลลัพธ์ออกมามีขนาดใหญ่ เทอะทะ และกินพื้นที่ในอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์เป็นอย่างมาก ซึ่งทางนักวิจัยจาก UCF ได้เปลี่ยนแนวคิดในการออกแบบแบตเตอรี่ใหม่ โดยใช้วัสดุก้อนแข็ง และขึ้นรูปตัวเก็บประจุยิ่งยวดให้เป็นสายนาโนเมทริค จากนั้นเคลือบด้วยเปลือกหุ้มที่ทำจากวัสดุโครงสร้าง 2 มิติ (2D Materials) ซึ่งสายของตัวเก็บประจุยิ่งยวดช่วยให้สามารถประจุไฟได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่วัสดุโครงสร้าง 2 มิติช่วยให้มีพื้นที่ที่สามารจัดเก็บพลังงานได้สูง
ประจุไฟได้เร็ว ใช้ได้งาน แถมทนกว่าลิเธียม-ไอออนถึง 20 เท่า
นักวิจัยจาก UCF ระบุว่า ได้ทำการทดสอบแบตเตอรี่ชนิดใหม่นี้ ซึ่งสามารถประจุไฟฟ้าจนเต็มได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที และสามารถใช้งานได้นานนับสัปดาห์ก่อนที่จะต้องประจุไฟใหม่ ที่น่าตกใจคือ สามารถทำการประจุไฟใหม่ได้มากถึง 30,000 ครั้งก่อนที่แบตเตอรี่จะเริ่มเสื่อมสภาพและประจุไฟฟ้าได้น้อยลง ซึ่งเทียบกับแบตเตอรี่ประเภทลิเธียม-ไอออนในปัจจุบันที่มี Lifecycle อยู่ที่ 1,000 – 1,500 ครั้งแล้ว มากกว่าถึง 20 เท่า
ถึงแม้ว่าการทดสอบจะดำเนินไปได้ด้วยดี แต่นักวิจัยระบุว่ายังคงต้องใช้เวลาในการพัฒนาเพื่อใช้งานในเชิงพาณิชย์ แต่แบตเตอรี่ชนิดใหม่นี้จะส่งผลกระทบต่อเทคโนโลยีมากมายในอนาคตอย่างแน่นอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น